Rule of MUAY THAI
กติกามวย
ข้อ ๑๗ การ ล้ม
๑๗.๑ การ “ล้ม” หมายถึง ถูก หมัด เท้า เข่า ศอกของคู่แข่งขันทำให้
๑๗.๑.๑ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายนอกจากเท้าถูกพื้นเวที
๑๗.๑.๒ ยืน พับ พิง หรือนั่งอยู่บนเชือก
๑๗.๑.๓ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือทั้งตัวออกไปนอกสังเวียน
๑๗.๑.๔ ถ้าถูกกระทำอย่างหนักแล้วยังไม่ล้มลงแต่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้
๑๗.๒ ข้อปฏิบัติเมื่อมีการล้ม
๑๗.๒.๑ กรณีที่มีนักมวยล้มต้องให้เวลาผ่านไป ๑ วินาที ผู้ชี้ขาดจึงเริ่มนับโดยต้อง
นับดังๆ จาก ๑ – ๑๐ เว้นระยะ ๑ วินาที และต้องแสดงสัญญาณมือแต่ละวินาที เพื่อให้นักมวยที่ล้มทราบการนับ พร้อมกับสั่งให้คู่แข่งขันเข้าไปอยู่ที่มุมกลางที่ไกลที่สุดทันที ถ้าคู่แข่งขันไม่ยอมทำตามคำสั่ง ผู้ชี้ขาดต้องหยุดนับจนกว่าผู้นั้นจะปฏิบัติตาม แล้วจึงนับต่อไปจากที่ได้นับแล้ว เมื่อผู้ล้มลุกขึ้นมา และพร้อมจะแข่งขันผู้ชี้ขาดจึงสั่งให้ชกต่อไปได้
๑๗.๒.๒ กรณีที่นักมวยผู้ล้มลุกขึ้นได้ก่อนผู้ชี้ขาดนับถึง ”สิบ” และพร้อมที่จะแข่งขันต่อไปได้ แต่ถ้ายังนับไม่ถึง “แปด” ผู้ชี้ขาดจะต้องนับต่อไปจนถึง “แปด” เสียก่อนจึงให้ทำการแข่งขันกันต่อไปได้
๑๗.๒.๓ ถ้านักมวยผู้ล้มลงพร้อมที่จะแข่งขันต่อไปได้ก่อนนับถึงสิบ แต่กลับล้มลงไปโดยมิได้ถูกกระทำอีก ให้ผู้ชี้ขาดนับต่อไปจากที่นับมาแล้ว
๑๗.๒.๔ กรณีผู้ชี้ขาดได้นับถึง ”สิบ” แล้ว ให้ถือว่าการแข่งขันได้สิ้นสุดลง และตัดสินให้ผู้ที่ล้มนั้นแพ้ ”น็อคเอาท์”
๑๗.๒.๕ กรณีที่นักมวยล้มลงพร้อมกันทั้งสองคน ให้ผู้ชี้ขาดนับต่อไปตลอดเวลาที่มีนักมวยฝ่ายหนึ่งล้มอยู่ ถ้านักมวยทั้งสองฝ่ายยังล้มอยู่จนกระทั่งนับถึงสิบ ให้ตัดสิน “เสมอกัน” กรณีที่นักมวยล้มลงทั้งคู่และแขน หรือขาทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกัน หรือทับกัน โดยที่นักมวยทั้งคู่พยายามลุกขึ้น ผู้ชี้ขาดต้องหยุดนับ แล้วแยกนักมวยทั้งสองออกจากกัน แล้วจึงนับต่อไปหากยังมีผู้ล้มอยู่
๑๗.๒.๖ กรณีที่นักมวยผู้ใดไม่พร้อมแข่งขันต่อไปได้ทันที ภายหลังที่เวลาหยุดพักระหว่างยกหมดไปแล้ว ผู้ชี้ขาดต้องนับ เว้นแต่เครื่องแต่งกายไม่เรียบร้อย หรือพื้นเวที สังเวียนไม่พร้อมสำหรับการแข่งขัน เป็นต้น
ข้อ ๑๘ การจับมือให้นักมวยจับมือกันก่อนเริ่มการแข่งขันในยกที่ ๑ และก่อนเริ่มการแข่งขันยกสุดท้าย เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่า จะแข่งขันกันอย่างนักกีฬา ตามกติกาการแข่งขัน
ข้อ ๑๙ แพทย์สนามหน้าที่แพทย์สนาม ต้องอยู่ประจำตลอดการแข่งขัน ณ ที่ ที่จัดไว้จนกว่าการแข่งขันคู่สุดท้ายสิ้นสุดลง และมีหน้าที่ดังนี้
๑๙.๑ ตรวจร่างกายนักมวยก่อนการชั่งน้ำหนัก เพื่อพิสูจน์ว่านักมวยมีความแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคหรือการเจ็บป่วยที่เป็นข้อห้ามตามที่ระบุในประกาศคู่มือแพทย์ของคณะกรรมการกีฬามวย
๑๙.๒ ให้คำแนะนำแก่ผู้ชี้ขาด เมื่อได้รับการร้องขอ
๑๙.๓ ให้การช่วยเหลือนักมวยที่หมดสติจากการแข่งขัน ให้แพทย์เท่านั้นเข้าไปในสังเวียน ผู้อื่นอาจเข้าไปในสังเวียนได้ ถ้าแพทย์ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
๑๙.๔ ให้การช่วยเหลือทางการแพทย์แก่นักมวยที่ถูก น็อคเอาท์ หรือ เทคนิเกิลน็อคเอาท์ โดยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และให้การรักษาพยาบาลทันที
๑๙.๕ ตรวจร่างกายและวินิจฉัยนักมวยหลังการแข่งขันเพื่อแจ้งระยะเวลาพักฟื้นก่อนการแข่งขันครั้งต่อไปตามข้อกำหนดดังนี้
๑๙.๕.๑ ภายหลังการแข่งขันครบ ๕ ยก นักมวยต้องหยุดพักร่างกายก่อนการแข่งขันครั้งต่อไปไม่น้อยกว่า ๒๑ วัน
๑๙.๕.๒ นักมวยผู้ชนะภายใน ๑ ยก นักมวยต้องหยุดพักร่างกายไม่น้อยกว่า ๗ วัน
๑๙.๕.๓ นักมวยผู้ชนะ ภายใน ๓ ยก ต้องหยุดพักร่างกายไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน
๑๙.๕.๔ นักมวยที่แพ้น็อคเอาท์หรือเทคนิเกิลน็อคเอาท์ ต้องหยุดพักร่างกายไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน กรณีนักมวยที่แพ้น็อคเอาท์หรือเทคนิเกิลน็อคเอาท์ โดยถูกกระทำที่ศีรษะ ๒ ครั้งติดกัน ต้องหยุดพักร่างกายไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน และต้องได้รับการรับรองจากแพทย์จึงจะทำการแข่งขันได้
๑๙.๕.๕ ภายหลังจากการฟักฟื้นนักมวยต้องได้รับการรับรองจากแพทย์จึงทำการแข่งขันได้